Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

สุขภาพดีสร้างได้บน “ถนนสายสุขภาพ”

30 มี.ค. 2566


   คงจะดีไม่น้อยหากได้ทำกิจกรรมที่ชอบ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ แน่นอนว่าถ้าเรามีสุขภาพที่ดี ก็ย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ฉะนั้นแม้จำนวนตัวเลขของอายุจะเพิ่มขึ้น แต่สุขภาพต้องไม่ถอยลง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องดูแลตนเองไม่ให้เก่า เพื่อจะได้เป็นวัยเก๋าอย่างมีคุณภาพ
   แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นคนอายุ 80 ปีที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน แถมดูดีตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ที่สำคัญดูแลตัวเองได้ และไม่เป็นภาระกับใคร มาร่วมหาคำตอบบน “ถนนสายสุขภาพ” ตามสไตล์ รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลไปด้วยกัน เพียงแค่ดูแลตนเองตามแนวทางต่อไปนี้!
1. ตรวจสุขภาพประจำปี (Annual Health Check-up)
   เพื่อคัดกรองความเสี่ยงของโรคภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะลุกลามใหญ่โต  เนื่องจากต่างคนต่างก็มีความเสี่ยงการเกิดโรคที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตที่ต่างกัน ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างเหมาะสมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก็จะเป็นเกราะป้องกันให้กับสุขภาพของเราได้
  • วัยรุ่น
 ในช่วงนี้เป็นวัยที่อาการป่วยอาจไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก เนื่องจากเป็นวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันยังดีอยู่ แต่ถ้าไม่ดูแลหรือปล่อยปะละเลยตนเอง กินอาหารหรือใช้ร่างกายไม่เหมาะสม ก็อาจจะส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในอนาคตได้ การตรวจสุขภาพที่เหมาะสมในวัยนี้ เช่น ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจหาระดับไขมันในเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต
  • วัยทำงาน
   เป็นช่วงวัยที่ใช้เวลาหมดไปกับทำงานเป็นหลัก จนบางครั้งอาจทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพ เช่น กินอาหารไม่ตรงเวลาใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป หรือนอนดึก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจได้การตรวจสุขภาพที่เหมาะสมในวัยนี้ เช่น ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจหาเบาหวาน ตรวจหาไขมันในเลือด เพื่อค้นหาความเสี่ยงโรคขั้นพื้นฐานประจำปี
  • วัยกลางคนและผู้สูงวัย
   “สุขภาพมักแปรผกผันกับอายุ” ในวัยนี้เป็นช่วงวัยที่มักจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย เนื่องจากระบบในร่างกายเริ่มเสื่อมถอยทำให้ความสามารถในการได้ยินและมองเห็นเสื่อมลง ผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนเดิม รวมถึงเกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก การตรวจสุขภาพในวัยนี้ ให้เน้นตรวจหาโรคที่เกิดจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น โรคปอด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินน้ำดี รวมถึงตรวจสายตา และตรวจหาภาวะสมองเสื่อมหรือซึมเศร้า เป็นต้น
2. รับวัคซีนป้องกันโรคตามมาตรฐาน ช่วงอายุ และการระบาด (Vaccination)
   หลายครั้งที่อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันร่างกายมีไม่เพียงพอ การฉีควัคซีนเข้าสู่ร่างกายจึงเป็นตัวช่วยที่มีขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการติดต่อของโรคต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปกติแล้วการให้วัคซีนจะเลือกให้โดยคำนึงถึงช่วงอายุและโรคประจำตัวของผู้รับวัคซีนเป็นหลัก ซึ่งการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยสูงอายุ
   วัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็ก
  • วัคซีนป้องกันวัณโรค
  • วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ
  • วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม
  • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ
  วัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้สูงวัย
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (ปีละ 1 ครั้ง)
  • วัคซีนป้องกันโรคไอกรน โรคคอตีบ และโรคบาดทะยัก
  • วัคซีนป้องกันปอดบวม (IPD)
  • วัคซีนป้องกันงูสวัด
3. ปรับสมดุลย์ร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ (หยิน หยาง สมดุลย์)
   ยิ่งอายุมากขึ้น การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงย่อมเป็นสิ่งที่ดี คำว่า “แข็งแรง” ในที่นี้ คือการที่เซลล์ในร่างกายจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเซลล์ในร่างกายทำงานได้ดี ระบบต่างๆ ก็จะทำงานอย่างสมดุลย์ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรง ปรากฏให้เห็นชัดจากการไม่เจ็บไม่ป่วย สุขภาพกายและจิตดี
   ซึ่ง รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล โดยศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน มีวิธีการปรับสมดุลย์ในร่างกาย แนวชีวจิต ดังนี้
   1. อาหารสุขภาพดีตามสไตล์ชีวจิต
  • ทานข้าวกล้องเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการรับประทานข้าวขาว, แป้ง, น้ำตาล หรือผลไม้หวานจัด
  • โปรตีนจากพืชเป็นหลัก ได้แก่ ถั่วเหลือง, เต้าหู้, ธัญพืชต่างๆ, เห็ด, สาหร่าย ในกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์แนะนำปลาและไข่
  • ดื่มน้ำสะอาดวันละอย่างน้อย 1,500 มล.
   2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามสไตล์ที่ท่านชอบและสะดวก
   ออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาทีต่อเนื่อง ให้หัวใจเต้นอย่างน้อย 100 ครั้ง / นาที เช่น การเดินเร็ว วิ่งจ็อกกิ้ง เต้นรำ ปั่นจักรยาน หรือกระโดดเชือก เป็นต้น
   3. ใช้วิตตามินเพื่อกระตุ้น และบำรุงร่างกาย
   เพื่อช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยสูตรวิตามินของ รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งใช้มานานกว่า 30 ปี
   4. การทำดีท็อกซ์ (Detox) คือช่วยกำจัดสิ่งตกค้างออกจากร่างกาย ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล
   เพื่อกำจัดสิ่งตกค้างซึ่งอาจเป็นพิษออกจากร่างกาย โดยเฉพาะสารโลหะหนัก ประเภทตะกั่ว ปรอท สารหนู เป็นต้น
  ทางโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ถนนสายสุขภาพที่โรงพยาบาลแนะนำให้ท่าน จะนำท่านไปสู่เป้าหมายเพื่อเป็นคนอายุยืนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
     ปรึกษาแพทย์ ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (โทร. 089-944-2448)  นพ.สัมพันธุ์ ธนกิจจำรูญ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว

สนับสนุนข้อมูลโดย
: นพ.สัมพันธุ์ ธนกิจจำรูญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.